ประวัติความเป็นมาการสร้างอนุสาวรีย์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

การสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของชาวบ้านสมเด็จเจ้าพระยามานานปี ตั้งแต่สมัยอาจารย์จรูญ มิลินทร์ เป็นผู้อำนวยการสมาคมศิษย์เก่าบ้านสมเด็จฯ โครงการสร้างอนุสาวรีย์เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นความจริงขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘ กล่าวคือมี อาจารย์รวม ๗ ท่าน คือ อาจารย์ภาณุ คุณโลกยะ อาจารย์จรัญ คุ้มมั่น อาจารย์วีระเดช โพธิ์กระจ่าง  อาจารย์กิจจา วาจาสัจ อาจารย์ธีรธรรม บัวเจริญ  อาจารย์นิเทศ นรพัลลภ และอาจารย์กลอยใจ โสภณปาล  ได้ทำบันทึกความดำริที่จะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาฯ เสนอต่อวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  (ชื่อในสมัยนั้น) และวิทยาลัยฯ นำเรื่องปรึกษาสภาวิทยาลัย สภาคณาจารย์ และกรรมการสมาคมศิษย์เก่าบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปรากฏว่ากรรมการทั้ง ๓ องค์กรเห็นชอบในหลักการ ในที่สุดการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็ประสบความสำเร็จอย่างเรียบร้อยและรวดเร็วเกินความคาดหมายบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ 

๑. เพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้มีพระคุณต่อสถานศึกษาแห่งนี้ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นในนิวาสสถานของท่าน อันเป็นสถานที่ซึ่งเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ผู้เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้เป็นโรงเรียนอบรมสั่งสอนวิทยากรกอปรที่มีชื่อเรียกเกี่ยวเนื่องในประวัติเดิมว่า “บ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ” อีกด้วย 

๒. เพื่อเทิดทูนและเผยแพร่เกียรติประวัติสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอัครมหาเสนาบดีแต่ผู้เดียวที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงไว้ซึ่งเกียรติยศได้รับพระราชทานอำนาจสิทธิขาดราชการทั้งปวงทั่วราชอาณาจักร 

๓. เพื่อส่งเสริมให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนในการน้อมระลึกถึงรัฐบุรุษ ผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ และเห็นคุณงามความดีของบุคคลผู้ที่เสียสละ อุทิศตนเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ที่ควรแก่การศึกษาและเทิดทูนต่อไป 

๔. เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมทางจิตใจ คือ การยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้อนุชนมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุรพการี ทั้งเป็นการสร้างประเพณีอันดีงามในการเคารพบรรพชนผู้ทรงคุณงามความดีของประเทศชาติ อีกด้วย 

.  เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของลูกสุริยะทั้งปวง ตลอดจนผู้ที่มีความสัมพันธ์นับเนื่องเป็นลูกสุริยะ ที่มีความผูกพันในสถาบันการศึกษาอันสูงส่งแห่งนี้ ได้มีอนุสาวรีย์ สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นอนุสรณ์ เตือนใจ ในความเป็นน้องพี่ที่ดีต่อกัน 

ร้อยเรียงกาลเวลา ประทับตรึงตราในพระมหากรุณาธิคุณ

สถานศึกษาอันมีชื่อว่า “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เป็นสถาบันการศึกษาที่มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญเกี่ยวข้องกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยเกียรติประวัติอันดีงาม ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาประทับหลายพระองค์ อีกทั้งบุคคลสำคัญที่ให้เกียรติมาในวาระต่าง ๆ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านสมเด็จที่เรียกตัวเองว่า “ชาวลูกสุริยะหรือลูกพ่อช่วง” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  (ช่วง บุนนาค) ผู้ที่มีคุณูปการกับประเทศชาติและผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันอันเป็นที่เคารพศรัทธาของปวงชนชาวไทย ด้วยเหตุนี้พวกเราชาวบ้านสมเด็จ จึงยึดถือแนวทางที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ทรงมีพระเมตตาพระราชทานในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม”ศาสตร์พระราชา”  

ปวงข้าพระพุทธเจ้าน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ 

๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓

   พุทธศักราช ๒๕๑๙ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยนั้น ได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูงประมาณ ๒ เมตร ประดิษฐานอยู่บนแท่น ดูโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ บริเวณด้านหน้าของสถาบัน และต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นับเป็นวาระที่สำคัญยิ่ง อันแสดงถึงความผูกพันของสถาบันการศึกษาที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ยังความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ  แก่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นล้นพ้น 

   คณะกรรมการดำเนินงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  ได้ร่วมมือกันเตรียมงานอย่างพร้อมเพรียงเพื่อความสมบูรณ์พร้อมที่สุดของพิธี เช่น การจัดสถานที่ การจัดพิธีการ การประชาสัมพันธ์และปฏิคม การรักษาความปลอดภัยและการจราจร สวัสดิการและพยาบาล จัดทำของที่ระลึก หนังสือที่ระลึกและสูจิบัตร แสง เสียง การบันทึกภาพ ดนตรี งานสมโภช การแสดงนิทรรศการ แผนกกิจการนักศึกษา การจัดทำแพรคลุมพระรูปสมเด็จฯ ประกอบด้วยผ้าแพรเนื้อนุ่มสีม่วงและสีขาว ตลอดจนการเขียนคำกราบบังคมทูลและการเขียนประกาศเกียรติคุณของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  

   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สามารถรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้ในท่ามกลางภยันตรายจากการคุมคามของประเทศตะวันตกที่มุ่งมาแสวงหาอาณานิคมและผลประโยชน์จากประเทศแถบทวีปเอเชีย อนุสาวรีย์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านสมเด็จฯ ทุกคน


   พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่มวลพสกนิกรชาวบ้าน สมเด็จเจ้าพระยาได้ประทับไว้ในหัวใจเป็นล้นพ้นก็คือ 10 เมษายน 2523 เวลา 16.00 น. ที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด

๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๙

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัยในพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งและเหรียญสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รุ่น ๑ การสร้างพระกริ่งในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

ประการแรก คือ ต้องการสร้างอนุสาวรีย์องค์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ให้กําเนิดและก่อตั้งวิทยาลัยครูแห่งนี้ แต่การจัดสร้างจําเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจํานวนมาก วิทยาลัยไม่มีทุนทรัพย์เพื่อการนี้เลย จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอเรียรายจากบรรดาศิษย์เก่า ทายาทและบรรดาผู้ที่เคารพนับถือใน องค์ท่าน เพื่อเป็นเครื่องระลึกและตอบแทนในความมีน้ำใจของท่านเหล่านั้น วิทยาลัยจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อสร้างของที่ระลึก ในที่สุดก็ตกลงใจกันจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนขององค์สมเด็จเจ้าพระยา และเหรียญพระพุทธรูปประจําวิทยาลัยขึ้น เพื่อให้บรรดาเหรียญที่สร้างขึ้นมีคุณค่ามีความขลังสมกับเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาคณะศิษย์ จึงตกลงกันจะทําพิธีปลุกเสกเหรียญที่สร้างขึ้นในการปลุกเสก คณะกรรมการได้จัดนิมนต์บรรดาเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและกิติคุณซึ่งเป็นที่นิยมนับถือของมหาชนในแต่ละภาคมาร่วมพิธีในครั้งนี้ การจัดพิธีใหญ่ ๆ เช่นนี้ขึ้นมาแต่ละครั้งจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ตลอดจนมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง เพื่อให้ถูกต้องตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา จึงได้เสนอพิธีให้มีการจัดสร้างพระกริ่งขึ้น โดยหล่อนําฤกษ์เพื่อให้ถูกต้องตามโบราณและประเพณีนิยม พระกริ่งของวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้จุติขึ้นมาเป็น ประการแรก 

ประการที่สอง การตั้งพระนามพระกริ่ง ทุกท่านที่อ่านหากผ่านการ อ่านข้อความในตอนต้นมาแล้วจะทราบดีว่า พระกริ่งนั้นมีความเป็นมา และมีความสําคัญเช่นไร เท่าที่ผู้อ่านได้เคยรู้เคยทราบ พระกริ่งที่สําคัญ ๆ ทั้งหลายเช่น พระกริ่งปวเรศ ก็ดี กริ่งของสมเด็จพระสังฆราชแพ ก็ดีฯลฯ ท่านมิได้เคยตั้งชื่อเป็นอย่างอื่น บรรดาประชาชนและผู้นิยมนับถือต่าง ขนานนามกันเองต่างหาก เช่น พระกริ่งปวเรศ พระกริ่งวัดสุทัศน์รุ่น ๗๙ พระกริ่งวัดสุทัศน์รุ่นเชียงตุง ฯลฯ การตั้งนามพระพุทธรูปที่สําคัญ ๆ หากจะมีขึ้นนั้นเท่าที่เคยประสบพบเห็นมามีแต่พระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน หรือการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาแล้วขอพระราชทานนามจากองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเท่านั้น ฉนั้นพระกิ่งที่จัดสร้างขึ้นครั้งนี้ จะได้รับการขนานนามว่าอะไรนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคณะศิษย์ และบรรดาผู้นิยมนับถือจะเหมาะกว่าวิธีการตั้งนามเอาเอง 

ประการที่สาม สาเหตุแห่งการจัดสร้างพระกิ่งขึ้นนั้นก็ได้กล่าวไว้ บ้างในประการแรก แต่ที่สําคัญที่สุดคือเจตนาการสร้างพระกริ่งขึ้นครั้งนี้ นอกจากคณะกรรมการจะมีจิตเป็นกุศล เจตนาบริสุทธิ์ มุ่งหวังความขลังศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังต้องการและประสงค์แต่เพียงให้เป็นของที่ระลึกขึ้น สําคัญยิ่งแก่บรรดาผู้สละทุนทรัพย์ ไม่ต้องการให้เป็นสินค้าที่จะซื้อขายกิน จึงสร้างแต่เพียงจํานวนจํากัด (เท่าจํานวนผู้สั่งจอง) และในเรื่องมูลค่า นั้นก็พอเหมาะสม ไม่ได้ตั้งราคามูลค่าดังเช่นทั่วไปนิยมกัน 

วัตถุมงคลที่วิทยาลัยสร้างขึ้นเมื่อ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๙ มีพระกริ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่า “พระกริ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ เหรียญพระพุทธรูปประจำวิทยาลัยรูปเสมา และเหรียญรูปเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  พระกริ่งมี ๒ ขนาด คือ องค์ใหญ่และองค์เล็ก เนื้อนวโลหะ อาจารย์กิจจาเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องรูปแบบ  

เหรียญพระพุทธรูปประจำวิทยาลัย (เสมา) มีเนื้อเงิน (สร้างตามจำนวนผู้สั่งจอง) และเนื้อทองแดงลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมา ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปประจำวิทยาลัยด้านหลังเป็นยันต์ ๔ มีคาถาหัวใจนักปราชญ์ (บัณฑิต) กลางสุดเป็นรูปสุริยะ 

เหรียญรูปเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีแบบขนาดและเนื้อต่างกัน เหรียญรีชนิดรี เนื้อทองคำมี  ๒๐ เหรียญ ด้านหน้าของเหรียญ เป็นรูปสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้านหลังมียันต์ ๔ มีคาถาหัวใจนักปราชญ์  (สุ จิ ปุ ลิ) ตรงกลางเป็นรูปสุริยะ 

เหรียญรูปเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ชนิดกลม มี ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก 
มีเนื้อทองแดง กะไหล่ทอง และกะไหล่เงิน ส่วนเหรียญขนาดใหญ่มีเนื้อเงินด้วยรูปแบบของเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้านหลังขอบนอกของเหรียญมียันต์หัวใจพาหุงเป็นอักษรขอม ๘ คำ คือ พา มา นาอุ กะ สะ นะ ธุ รอบในเป็นยันต์ ๔ มุม ประกอบด้วยคาถาหัวใจนักปราชญ์ ๔ คำ ในกลีบดอกบุนนาคกลางสุดเป็นรูปสุริยะ 

เหรียญรูปเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ นี้ อาจารย์จรัญ คุ้มมั่น เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์ประพันธ์  วิทยวิโรจน์ เป็นคนเขียนแบบวัตถุมงคลที่กล่าวนี้ จัดสร้างโดยกองโรงงานกษาปณ์ กรมธนารักษ์ จึงได้เหรียญที่คมชัดและงดงามมาก อาจารย์กิจจา อาจารย์ธีรธรรม เป็นผู้ติดต่อและดำเนินการ 

วันศุกร์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร ๑๕๐ ปีมหาบุรษรัตโนดม (ช่วง บุนนาค) และทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) อาคารเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) อาคารพระยาวิเศษศุภวัตร์ อาคารพระยาประมวลวิชาพูล และอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม)

   สำหรับอาคาร ๑๕๐ ปี มหาบุรุษรัตโนดม (ช่วง  บุนนาค) นี้ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงบริเวณชั้นล่างให้เป็นแหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา และชั้นสองจัดทำเป็นโรงละครศรีสุริยวงศ์

   นอกจากนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงทอดพระเนตรการแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในงานสัปดาห์เชิดชูเกียรติ “๑๕๐ ปี มหาบุรุษรัตโนดม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ประจำปี ๒๕๖๑ ณ โรงละครศรีสุริยวงศ์ การแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนักร้องกิตติมศักดิ์ ท่านจารุทัศน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และศิลปินรับเชิญ ได้แก่ คุณฝนพา ปราโมช ณ อยุธยา คุณบัณฑิตา ประชามอญ คุณญาดา วงษ์ยี่หวา คุณวชิรัตน์ วรรณวิจิตร และคุณกรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา

เอกสารสำคัญ

ประมวลภาพความทรงจำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี ผู้แทนคณาจารย์ ผู้แทนนักศึกษาถวายพวงมาลัยข้อพระกร

ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดอาคาร ๑๕๐ ปี มหาบุรุษรัตโนดม (ช่วง  บุนนาค) และอาคารเรียน จำนวน 5 อาคาร   

ทอดพระเนตรแหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา   

ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์
ลงพระนามในสมุดที่ระลึก      
ฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ฯ

วันอังคารที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธีเปิดอาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  (ดิส  บุนนาค)  อาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) และอาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในวาระ ๒๐๐ ปี วันสมภพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 

วันอังคารที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ เป็นวันสำคัญอีกวาระหนึ่งที่จะเป็นความทรงจำ และบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พระกรุณาธิคุณที่พระเจ้ารวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จพระดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการพิธีบำเพ็ญพระกุศล เนื่องในโอกาสวันสมภพครบ ๒๐๐ ปี ของสมเด็จเจ้าพระยา บรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม ผู้มีคุณูปการต่อประเทศสยาม และผู้ที่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระบรมราชจักริวงศ์ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาไปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรและเครื่องไทยธรรมกัณฑ์เทศน์ มาเพื่อใช้ในการพิธีบำเพ็ญพระกุศล นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร จำนวน ๓ หลัง ของมหาวิทยาลัยราชกัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ยังความปลื้มปิติและความสำนึกในพระกรุณาธิคุณแก่ลูกสุริยะ และสายสกุลบุนนาค รวมทั้งเป็นการแสดงผูกพันของสถานศึกษาแห่งนี้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ 

   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมาคมศิษย์เก่าบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในพระบรมราชูปถัมภ์ และสายสกุลบุนนาค จัดงานเฉลิมเกียรติคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการบำเพ็ญกุศลพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในการนี้พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีบำเพ็ญพระกุศลครั้งนี้ 

ประมวลภาพความทรงจำ 

ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย อาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ อาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และอาคารสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  

ทรงปลูกต้นชงโค

  ทรงลงพระนามในสมุดที่ระลึก 

วันจันทร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาวิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จพระดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา และเปิดอาคารบรรณราชนครินทร์ ของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และต่อมาได้พระราชทานชื่อ “บรรณราชนรินทร์” เป็นชื่ออาคารห้องสมุดของสถาบันราชภัฏทั้ง ๓๕ แห่ง

เนื่องจากสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีพื้นที่น้อย การก่อสร้างอาคารในระยะหลังนี้จำเป็นต้องขยายพื้นที่ไปในทางสูง ในปี ๒๕๔๐ สถาบันฯ ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนรวม ๑๕ ชั้น หลังที่สองจำนวน ๑๐๗,๙๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และใช้เงินนอกงบประมาณของสถาบันตกแต่งภายใน จำนวน ๒๙,๐๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (ยี่สิบเก้าล้านบาทถ้วน) โดยได้กราบอาราธนาทูลเชิญสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๑ อาคารหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ จึงได้ดำเนินการผ่านสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏและได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา” ภายในอาคารประกอบด้วยศูนย์อาหาร ลานจอดรถ สำนักงานคณะวิทยาการจัดการ สำนักงานบัณฑิตวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการ ห้องประชุมและห้องเรียน ต่อมาสถาบันฯ ได้รับงบประมาณแผ่นดินปี ๒๕๔๐ ก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการ สูง ๘ ชั้น จำนวน ๔๐,๗๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สี่สิบล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) และสถาบันฯ ได้ใช้เงินนอกงบประมาณสมทบค่าก่อสร้างอีก ๔๙,๑๖๔,๐๐๐.๐๐ (สี่สิบเก้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นสี่พันบาทถ้วน) รวมเป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๘๙,๘๖๔,๐๐๐.๐๐ บาท (แปดสิบเก้าล้านหนึ่งแสนหกหมื่นสี่พันบาทถ้วน) โดยใช้เป็นอาคารหอสมุดของสถาบันฯ ซึ่งได้ขอพระราชทานนามจากใต้ฝ่าพระบาทว่า “อาคารบรรณราชนครินทร์” นับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณแก่สถาบันฯ แห่งนี้อย่างหาที่สุดมิได้

         นอกจากนี้วันที่ 24 มิถุนายน 2548 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักเลอดิส รับพระราชทานลายพระหัตถ์คำว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ภาพลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เอกสารสำคัญ

ประมวลภาพความทรงจำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ นายกสภาประจำสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จจ้าพระยา ผู้แทนกรรมการสภาประจำสถาบันฯ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้แทนคณาจารย์ และผู้แทนนักศึกษา เฝ้ารับเสด็จฯ

   เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี           

ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “ อาคารเฉลิม
  พระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา และอาคารบรรณราชนครินทร์
ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นจารึก                            
ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหาร

วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร ๑๐๐ ปี ศรีสุริยวงศ์ พร้อมพระราชทานเกียรติบัตร แก่ผู้มีอุปการคุณ ศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบัน และขอกราบทูลเชิญเสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมของสถาบัน 

สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๙ ใช้ชื่อว่าโรงเรียนราชวิทยาลัย เปิดสอนตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙ ณ คฤหาสน์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งพระยาสีหราชเดโชชัย หลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้น้อมเกล้าถวายไว้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการจากโรงเรียนราชวิทยาลัย มาเป็นโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช  ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” ให้แก่ สถาบันในสังกัดกรมการฝึกหัดครู ดังนั้นจึงได้นามใหม่เป็น “สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” ซึ่งปัจจุบันมีสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้แก่ ครุศาสตร์บัณฑิต วิทยาศาสตร์บัณฑิต และศิลปะศาสตร์บัณฑิต สถาบันราชภัฏแห่งนี้มีภารกิจตามพระราชบัญญัติ  สถาบันราชภัฏ พุทธศักราช ๒๕๓๘ ที่นอกจากผลิตบัณฑิต ศึกษาวิจัยแล้ว ยังมั่งในการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย 

   ด้วยสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีพื้นที่น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้เรียน สถานที่ฝึกปฏิบัติ และที่พักของคณาจารย์ไม่เพียงพอ การสร้างอาคารเรียนจึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ในทางสูง รองศาสตราจารย์ฉลอง ภิรมย์รัตน์ อธิการบดีสมัยนั้นผู้คิดริเริ่มเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ โดยได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนแปลงจากการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ซึ่งในปีนั้นได้รับงบประมาณแผ่นดิน ๒๐,๙๕๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) มาเป็นอาคารเรียนรวม ๑๕ ชั้น ตามแบบของกองพัฒนาอาคารสถานที่ กรมการฝึกหัดครู ซึ่งสถาบันจะต้องเพิ่มเงินนอกงบประมาณของสถาบัน อีกจำนวน ๕๑,๒๒๖,๕๐๐ บาท (ห้าสิบเอ็ดล้านสองแสนสองหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างอาคารหลังนี้จำนวนเงินทั้งสิ้น ๗๒,๑๗๖,๕๐๐ บาท (เจ็ดสิบสองล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) ทั้งนี้เพื่อให้อาคารนี้เสร็จทันเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ของสถาบันในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ จึงได้เริ่มก่อสร้างในสมัยอธิการบดีคนปัจจุบัน คือ รองศาสราจารย์สันต์ ธรรมบำรุง 

   ในการก่อสร้างอาคารหลังนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  ได้ทรงกรุณาเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพุธที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๗  เวลา ๑๔.๒๙ น. การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ ด้วยเหตุที่สถาบัน ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ตั้งขึ้นอยู่ในพื้นที่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)  และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของสถาบันจึงใช้ชื่ออาคารนี้ว่า “อาคาร ๑๐๐ ปี ศรีสุริยวงศ์” ซึ่งเป็นอาคารเรียนที่สูงที่สุดอาคารแรกของกระทรวงศึกษาธิการ 

เอกสารสำคัญ

วันจันทร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธาน จุดเทียนชัยในพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งและเหรียญสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  (ช่วง บุนนาค) รุ่น ๓ 

หลักการและเหตุผล  

สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาสถานที่ก่อตั้งมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๙๓ ณ จวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาครบ ๑๐๐ ปี จึงสมควรที่จะสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อแสดงถึงความกตัญญู กตเวทิตา และเป็นที่ระลึกแด่บรรดาคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป 

ในการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนี้ คณะกรรมการจัดสร้างมุ่งหวังให้เป็นวัตถุมงคลที่ทรงคุณค่า มากที่สุด ทั้งรูปแบบและพิธีกรรม จึงได้เลือกสรรปฏิมากรที่มีฝีมือทางด้านการสร้างพระโดยเฉพาะ ได้แก่ รูปหล่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้ปั้นหุ่น คืออาจารย์ชนะ กรภัทร์กุล และดำเนินการหล่อโดยนายช่างแก้ว หนองบัว โรงหล่อธรรมรังษี เหรียญสมเด็จเจ้าพระยาฯ นายช่างประดิษฐ์ ธนยศเศวตวิจิตร เป็นผู้แกะแบบและจัดสร้างโดยจำลองแบบจากเหรียญรุ่นแรกของวัดศรีสุริยวงศ์ (พ.ศ.๒๔๖๕) ส่วนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ใช้รูปแบบพระกริ่งใหญ่ วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้นแบบและเนื้อนวโลหะ (กลับดำ) เป็นสูตรโบราณและกำกับควบคุมการหล่อโดยอาจารย์กิจจา วาจาสัจ 

การสร้างวัตถุมงคล ๑๐๐ ปี บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงนับได้ว่ามีความยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าไม่แพ้วัตถุมงคลที่สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ในโอกาสครบ ๘๐ ปีของสถาบัน ซึ่งวัตถุมงคลรุ่นนั้นในขณะนี้ถือได้ว่ามีคุณค่ามาก และหาได้ยากทั้งยังมีราคาเพิ่มขึ้นมากทีเดียว ดังนั้นวัตถุมงคล ๑๐๐ ปี บ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเป็นที่ลูกเจ้าพ่อหรือลูกสุริยะทุกคนควรได้มีไว้เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นที่ระลึกตลอดไป 

วัตถุประสงค์ 

๑. เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุน ๑๐๐ ปี 
๒. เพื่อปรับปรุงและทำนุบำรุงอนุสาวรีย์และศาลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ 
๓. เพื่อเป็นทุนในการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ 

ระยะเวลาดำเนินการ 

พิธีเททองหล่อรูป วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ณ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  

วันพุธที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๗

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนรวม ๑๐๐ ปี ศรีสุริยวงศ์  

พิธีวางศิลาฤกษ์ : การวางศิลาฤกษ์ในปัจจุบัน มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ เริ่มต้นด้วยการเตรียมหาฤกษ์กำหนดสถานที่ กำหนดผู้เป็นประธานในพิธี และสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีการเตรียมการมีดังนี้ 

๑. การเตรียมมหาฤกษ์เจ้าของอาคารนิยมให้พระสงฆ์ผูกดวงหา วัน เวลา ในการประกอบพิธีเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับอาคารที่สร้างใหม่นั้นได้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นการบำรุงขวัญ 

๒. การเตรียมหาสถานที่ที่จะประกอบพิธีเจ้าของอาคารต้องนำแผนผังอาคาร (แบบแปลน) ให้พระสงฆ์ที่หาฤกษ์ได้พิจารณาเพื่อกำหนดสถานที่ตั้งพิธีวางศิลาฤกษ์ ที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา อาสนะสำหรับพระสงฆ์ ที่นั่งของประธาน และผู้มาร่วมพิธีทางเข้าทางออกสำหรับที่ตั้งพิธีวางศิลาฤกษ์มักจะเป็นที่ที่ไม่อยู่ใกล้ห้องน้ำ บันได เป็นต้น เป็นต้น มีการดูทิศทาง ปกติการวางศิลาฤกษ์ประธานประกอบพิธีจะไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลัวว่าจะร้อนจึงเลี่ยงหันหน้าไปทางทิศเหนือ บางตำราก็ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก 

๓. วางกำหนดการเป็นขั้นตอน ลงรายละเอียดทั้งกำหนดเวลาและการปฏิบัติ 

๔.๑ แผ่นศิลาจารึกดวงฤกษ์ซึ่งสลักลงในแผ่นหินอ่อน และมีข้อความบอกวัน เดือน ปี ชื่อประธานและประเภทของอาคารที่วางศิลาฤกษ์ดังภาพตัวอย่างดวงมงคลฤกษ์ อาคาร ๑๕ ชั้น วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ส่วนทางด้านหลังแผ่นศิลาอาจมีการลงยันต์ตรีนิสิงเห เพื่อให้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ 

๔.๒ แผ่นอิฐ มักใช้อิฐก้อนหนาจำนวน ๙ แผ่น ปิดหรือทาบรอนซ์ทอง ๓ แผ่น บรอนซ์เงิน ๓ แผ่น และบรอนซ์นาก ๓ แผ่น ๔.๓ ไม้มงคล ๙ ชนิด อันได้แก่ ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ทองหลาง ไม้ไผ่สีสุก ไม้กันเกลาหรือ (กันภัย) ไม้ทรงบันดาล ไม้สัก ไม้พยุง ไม้ขนุน ซึ่งมีความหมายตามลำดับดังนี้ คือ ให้มีโชคชัย มีคนนับถือ มีเงินมีทอง มีความสุข มีเครื่องป้องกันภัย มีอานุภาพมหาอำนาจ มีศักดิ์สิทธิ์ ให้พยุงฐานะ และหนุนให้มีเงินทอง ให้ยศศักดิ์ไม่ถดถอย เวลาปักไม้ให้เวียนเป็นทักษิณาวรรตที่หลุมสำหรับวางศิลาฤกษ์ โดยให้ไม้ขนุนอยู่ ตรงกลาง   

๔.๔ ตลับเพชรพลอยเก้าสี พร้อมด้วยเศษเงินเศษทอง รูปกันภัย (เศษไม้รัก ไม้มะยม ไม้กัลปังหา) บางแห่งถ้ามีกล่องแผนผัง ก็ใส่ไว้ในหลุมก่อนที่จะถึงเวลาวางศิลาฤกษ์ 

๔.๕ ถังศิลาฤกษ์ หลุมที่จะวางศิลาฤกษ์นั้น มีทั้งวิธีขุดและก่อดังนี้ ถ้าขุดหลุมดินธรรมดาจะต้องตอกเข็มใหญ่ ๆ ไว้ให้เรียบร้อย ถ้าหลุมนั้นก่อขึ้นด้วยปูนซิเมนต์ ในเวลาที่ก่อจะต้องเจาะเป็นรูไว้เก้ารู เพื่อให้เป็นที่ตอกเข็มฤกษ์จำนวนเก้าเข็มส่วนถังศิลาฤกษ์ที่ก่อนั้นเป็นคอนกรีตประดับด้วย ดอกไม้ ถังนี้ยกออกได้ รอบๆ บริเวณที่วางศิลาฤกษ์นั้น จะต้องปักด้วยราชวัติฉัตร ธง พร้อมด้วย หน่อกล้วยหน่ออ้อย และต้องวงด้วยสายสิญจน์ต่อมาจากที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เชื่อมมายังเครื่องวางศิลาฤกษ์ คือไม้มงคล แผ่นอิฐ แผ่นศิลาตลับพลอยเก้าสี ฯลฯ แล้วโยงเข้าสู่ประรำพิธี 

๔.๖ สิ่งของอื่น ๆ เช่น เครื่องสังเวย บูชาฤกษ์ซึ่งพราหมณ์เป็นผู้จัด เครื่องไทยธรรม สำหรับถวายพระสงฆ์